kw, kwp, kwh คืออะไร สำคัญต่อระบบโซล่าเซลล์ยังไง คำถามที่เราจะมาหาคำตอบกันในวันนี้ โดยก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักความหมายของแต่ละประเภทกันก่อนว่าคืออะไร หลังจากนั้นโซล่ากูรูจะนำประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยนี้มาฝากกันอย่างเจาะลึก ไม่ว่าจะเป็นความเกี่ยวข้องกับโซล่าเซลล์ การคำนวณกำลังวัตต์ไฟฟ้าที่ใช้ให้เหมาะกับวัตต์ที่โซล่าเซลล์ผลิต เพื่อให้เพื่อน ๆ สามารถทำความเข้าใจการใช้โซล่าเซลล์ได้มากขึ้น
กิโลวัตต์ (kw) คืออะไร
kilowatt (kw) หรือ กิโลวัตต์ คือ หน่วยของกำลังไฟฟ้า โดย 1 กิโลวัตต์ เท่ากับ 1000 วัตต์ (w) และ 1 เมกะวัตต์ เท่ากับ 1 ล้านวัตต์ ยกตัวอย่างเช่น ไดร์เป่าผมระบุไว้ข้างกล่องว่าใช้กำลังไฟฟ้า 1000 วัตต์ ซึ่งก็เท่ากับใช้ไฟฟ้า 1 kw นั่นเอง
เคยมีคำถามบนโลกออนไลน์สงสัยว่า 1 กิโลวัตต์ เท่ากับ กี่แรงม้า ซึ่งแรงม้านั้น เป็นอัตราบ่งบอกความแรงของเครื่องจักร เครื่องยนต์ และมอเตอร์ โดยโซล่าเซลล์กูรูได้ไปหาคำตอบมาให้แล้ว ซึ่ง 1 กิโลวัตต์นั้นเท่ากับ 1.341 แรงม้า
กำลังการผลิตไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์ ขึ้นอยู่กับกิโลวัตต์เท่านั้นไหม
นอกจากกิโลวัตต์ (kw) แล้ว หน่วยของกำลังไฟฟ้าที่แผงโซล่าเซลล์ (Solar panel) ผลิตได้นั้น ยังมี kwp และ kwh ที่เกี่ยวข้อง โดย kwp เป็นหน่วยของกำลังไฟฟ้าสูงสุดที่แผงโซล่าเซลล์ผลิตได้ และ kwh คือ หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ได้ต่อชั่วโมงนั่นเอง ซึ่งจะมีรายละเอียดแบบเจาะลึกให้เพื่อน ๆ ได้ทราบอยู่ในหัวข้อถัดไป
วัตต์ที่อยู่บนเครื่องใช้ไฟฟ้า เกี่ยวข้องกับ kw ของโซล่าเซลล์ยังไง
ปริมาณวัตต์ที่อยู่บนเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเป็นตัวบอกให้ทราบถึงขนาดของโซล่าเซลล์ที่จะเลือกมาติดตั้ง โดยผู้ที่ติดตั้งโซล่าเซลล์ จำเป็นต้องทราบปริมาณวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทุกชิ้น และลักษณะการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน เพื่อนำมาคำนวณหาปริมาณไฟฟ้าที่ใช้งานต่อวัน และทำการติดตั้งโซล่าเซลล์ได้อย่างเหมาะสมต่อการใช้งาน มีไฟฟ้าใช้เพียงพอตามต้องการ
วัตต์ไฟที่ใช้ กับวัตต์ไฟที่ผลิต จะคำนวณยังไง
วิธีคำนวณวัตต์ไฟที่ใช้ เพียงนำกำลังวัตต์ที่ระบุอยู่บนเครื่องใช้ไฟฟ้า คูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ใช้ต่อวัน จะได้กำลังไฟที่เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้น ๆ ใช้ต่อวัน อาทิ โทรทัศน์ 14 นิ้ว กำลังวัตต์อยู่ที่ 50 วัตต์ต่อชั่วโมง โดยใน 1 วันเปิดใช้ประมาณ 6 ชั่วโมง เท่ากับว่าโทรทัศน์เครื่องนี้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 300 วัตต์ต่อวัน
ซึ่งหากนำมาคำนวณเพื่อเลือกขนาดของโซล่าเซลล์ที่จะติดตั้งนั้น ต้องคำนวณการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นภายในบ้าน แล้วนำกำลังไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดมาบวกกัน จึงจะได้ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ต่อวันของบ้านหลังนี้ และสามารถนำไปใช้ในการเลือกขนาดของแผงโซล่าเซลล์ได้ ยกตัวอย่างเช่น
หากบ้านหลังนี้รวมแล้วใช้ไฟฟ้าต่อวันอยู่ที่ 5000 วัตต์ ให้นำไปหารด้วย 5 ซึ่งคือจำนวนชั่วโมงที่แสงอาทิตย์เข้มข้นพอที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5000 หาร 5 จะเท่ากับ 1000 วัตต์ แต่หลักการเลือกแผงโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟ ควรเลือกให้มากกว่ากำลังไฟที่คำนวณไว้ ดังนั้นในกรณีนี้ โซล่ากูรูแนะนำให้เลือกโซล่าเซลล์ขนาด 300 วัตต์ จำนวน 4 แผง เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ไฟฟ้าของบ้านได้อย่างเพียงพอ และใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
กิโลวัตต์สูงสุด (kwp) คืออะไร
Kilowatt Peak (kwp) หรือ กิโลวัตต์สูงสุด คือ กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่โซล่าเซลล์ผลิตได้ เช่น โซล่าเซลล์ขนาด 10 kwp จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดที่ 10 กิโลวัตต์ หรือ 10,000 วัตต์นั่นเอง
หลักของ STC สำหรับแผงโซล่าเซลล์คืออะไร
Standard Test Conditions (STC) คือ การทดสอบแผงเซลล์ขณะที่ได้รับแสงที่มีความเข้ม 1000 วัตต์ต่อ 1 ตารางเมตร โดยควรมีอุณหภูมิของแผงโซล่าเซลล์อยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส และแสงที่ผ่านชั้นบรรยากาศต้องเท่ากับ 1.5 เท่าของมวลอากาศ
แผงโซลาร์เซลล์ 300w กับ 300 wp เหมือนกันไหม
เหมือนกัน เพราะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดไม่เกิน 300 วัตต์ โดย wp นั้นมาจาก Watt Power ซึ่งหมายถึงหน่วยวัดกำลังไฟฟ้านั่นเอง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดของแผงโซล่าเซลล์
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์นั้นอย่างแรกอยู่ที่ ประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ หรืออธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ ความเข้มและแรงของแสงแดดว่าเพียงพอต่อการนำมาต่อยอดผลิตกระแสไฟฟ้าหรือไม่ ยิ่งแดดแรง ก็ยิ่งผลิตไฟฟ้าได้มาก และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ประสิทธิภาพของแผลโซล่าเซลล์ที่ใช้ ซึ่งจะรู้ว่าแผงโซล่าเซลล์ที่เลือกมาติดตั้งมีประสิทธิภาพที่ได้มาตรฐานหรือไม่นั้น ให้ดูที่ Standard Test Conditions (STC) ซึ่งแผงที่ดีมีคุณภาพควรมีอุณหภูมิอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส รับแสงอาทิตย์เข้ม ๆ ได้ 1000 วัตต์ต่อ 1 ตารางเมตร และแสงสามารถผ่านชั้นบรรยากาศได้ 1.5 เท่าของมวลอากาศ
หน่วยวัดไฟ กิโลวัตต์ ชั่วโมง (kwh) คืออะไร
Kilowatt-hour หรือ กิโลวัตต์ชั่วโมง (kwh) คือ หน่วยบอกปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมง โดย 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เท่ากับ 1,000 วัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่ง kwh นั้นเป็นหน่วยไฟฟ้าที่จะเห็นได้ในใบเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่คำนวณมาจากมิเตอร์ไฟฟ้าประจำบ้าน ซึ่ง 1 kwh เทียบเท่ากับปริมาณไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วยนั่นเอง
ราคาแผงโซล่าเซลล์ กับวัตต์ที่ระบุ
วัตต์ยิ่งสูงราคาแผงโซล่าเซลล์ก็ยิ่งสูงตามไปด้วย โดยแผงโซล่าเซลล์เริ่มต้นที่ 10 วัตต์ ราคาอยู่ที่ประมาณ 700-1,000 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 285 วัตต์ ซึ่งเป็นกำลังวัตต์สูงสุดของแผงโซล่าเซลล์ที่ใช้กันไฟบ้าน ราคาอยู่ที่ 3,500 – 4,000 วัตต์ แต่ก็ยังมีแผงโซล่าเซลล์ที่มีขนาด 300 วัตต์ขึ้นไป ซึ่งนิยมใช้งานกับที่ที่ต้องการกำลังไฟสูง ๆ อย่างโรงงาน หรือปั๊มน้ำโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่
ค่าไฟต่อกิโลวัตต์ ชั่วโมงปี 2565
ในปี 2565 นี้มีการเปลี่ยนแปลงราคาไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าปรับขึ้นราคาค่าไฟ ซึ่งหากถามว่าไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ กี่บาทนั้น โซล่ากูรูได้หาคำตอบมาให้แล้ว โดยค่าไฟต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงอยู่ที่ 4 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่ผ่านมาพอสมควรเลยทีเดียว
ขนาดวัตต์ของโซล่าเซลล์ สำหรับบ้าน
สำหรับโซล่าเซลล์สำหรับบ้านนั้น นิยมติดแบบโซล่ารูฟท็อป หรือโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา โดยจะใช้ขนาดวัตต์อยู่ที่ 3 kw, 5 kw และ 10 kw ซึ่งหากบ้านไหนใช้ไฟฟ้ามาก ขนาด 10 kw จะสามารถตอบโจทย์การใช้งานของคุณได้อย่างเหมาะสม แถมระยะเวลาคืนทุนก็ไวกว่า เพียง 6 – 7 ปีเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับกำลังวัตต์ที่น้อยกว่าต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว
โซล่ากูรูหวังว่าข้อมูลเกี่ยวกับ kw, kwp, kwh คืออะไร สำคัญต่อระบบโซล่าเซลล์ยังไง จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ได้บ้าง อย่างน้อยก็ช่วยให้เพื่อน ๆ เข้าใจระบบไฟฟ้าและระบบโซล่าเซลล์มากขึ้น จะได้นำไปใช้เลือกซื้อและติดตั้งโซล่าเซลล์ที่มีขนาดวัตต์เหมาะสมกับการใช้งานได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย สามารถใช้งานไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ และไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง