ระบบโซล่าเซลล์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Solar cell system หรือ Photovoltaic Systems (PV system) และชื่อภาษาไทยของโซล่าเซลล์ก็มีหลายชื่อ ไม่ว่าจะพลังงานแสงอาทิตย์ หรือระบบเซลล์สุริยะ แต่ที่นิยมเรียกกันมากที่สุดตอนนี้ก็คือ โซล่าเซลล์ (Solar Cell) วันนี้โซล่าเซลล์กูรูเอาข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับระบบโซล่าเซลล์ และทั้งหลักการทำงาน ส่วนประกอบของระบบโซล่าเซลล์มีอะไรบ้าง และระบบโซล่าเซลล์แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร เหมาะกับการใช้งานในลักษณะไหน และในตอนท้ายโซล่ากูรูยังได้รวบรวมคำถามพร้อมคำตอบในประเด็นต่างๆ ของโซล่าเซลล์
ระบบโซล่าเซลล์คืออะไร
ระบบโซล่าเซลล์ คือ ระบบเซลล์สุริยะที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่าแผงโซล่าเซลล์ (Solar Panel) ที่นิยมติดบนหลังคาบ้าน (Solar Rooftop) โดยจะทำการแปลงพลังงานแสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้ เช่น พัดลม หลอดไฟ ตู้เย็น แอร์ ทีวี และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีในครัวเรือน ซึ่งจะไม่เหมือนกับไฟโซล่าเซลล์ หรือพัดลมโซล่าเซลล์ที่วางขายตามร้านค้าออนไลน์
ระบบโซล่าเซลล์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ระบบโซล่าเซลล์ประกอบไปด้วย แผงโซล่าเซลล์ แบตเตอรี่ เครื่องควบคุมการชาร์จ และอินเวอร์เตอร์ รายละเอียดการทำงานของอุปกรณ์แต่ละชิ้นสามารถอ่านต่อได้ที่ลิ้งค์ด้านล่าง
- แผงโซล่าเซลล์ (Solar Panel) แผงวงจรที่ใช้แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า
- อินเวอร์เตอร์ (Solar Inverter) อุปกรณ์แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า
- แบตเตอรี่โซล่าเซลล์ (Solar Battery) ซึ่งแบตเตอรี่ของระบบโซล่าเซลล์จะเป็นแบตเตอรี่ deep cycle ใช้สำหรับเก็บกระแสไฟสูงๆ ที่ได้จากแผงโซล่าเซลล์ โดยสามารถจ่ายกระแสไฟได้สูงอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าแบตเตอรี่รถยนต์หลายเท่า
- เครื่องควบคุมโซล่าชาร์จเจอร์ (Solar Charge Controller) มีไว้สำหรับควบคุมการทำงานของโซล่าเซลล์ ตั้งแต่นำส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ ไปจนถึงควบคุมการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
ระบบโซล่าเซลล์ มีกี่แบบ และต่างกันยังไง
ปัจจุบันระบบโซล่าเซลล์มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ ระบบโซล่าเซลล์แบบออนกริด ระบบโซล่าเซลล์แบบออฟกริด และระบบโซล่าเซลล์แบบไฮบริด โซล่าเซลล์กูรูได้อธิบายความแตกต่างกันระหว่างระบบโซล่าเซลล์ทั้งสามแบบ และแต่ละแบบเหมาะกับการใช้งานแบบไหน
1. ระบบโซล่าเซลล์ on grid (ออนกริด)
ระบบโซล่าเซลล์ on grid คือ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ พร้อมกับใช้ไฟจากการไฟฟ้าเวลาที่ระบบโซล่าเซลล์ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งแบบออนกริดนี้ จะใช้จ่ายไฟได้แค่ในช่วงกลางวัน เพราะไม่มีแบตเตอรี่เก็บไฟ โดยใช้งานจากกระแสไฟที่ได้จากแผงโซล่าเซลล์ก่อน และหากไฟไม่พอจึงจะดึงไฟจากการไฟฟ้ามาใช้เพิ่มเติม โดยระบบโซล่าเซลล์ on grid ราคาไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับระบบออฟกริด โดยราคามีตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักหลายแสน แตกต่างกันไปตามขนาดไฟที่ใช้ในบ้าน
2. ระบบโซล่าเซลล์ off grid (ออฟกริด)
สำหรับระบบโซล่าเซลล์ off grid นั้น จะเป็นระบบที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีไฟจากการไฟฟ้ามาช่วยเสริมแบบระบบออนกริด เหมาะสำหรับใช้งานในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งระบบออฟกริดนี้ สามารถใช้ได้ทั้งแบบไม่มีแบตเตอรี่ ที่ใช้ไฟได้เฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น และแบบมีแบตเตอรี่ ปกติระบบโซล่าเซลล์นั้นจะใช้แบตเตอรี่ deep cycle ที่มีประสิทธิภาพกักเก็บไฟฟ้าได้นาน ช่วยให้สามารถใช้ไฟได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งแบตเตอรี่ที่ใช้นั้นในหนึ่งลูกจะมีแรงดันเท่ากับ 12v หรือที่เรียกว่า ระบบโซล่าเซลล์ 12v นั่นเอง
ระบบโซล่าเซลล์ off grid ราคาจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโซล่าเซลล์ระบบอื่น แต่สามารถใช้แทนไฟจากการไฟฟ้าได้จริงครอบคลุมการใช้งานตลอดทั้งวัน จึงเหมาะกับบ้านหรือการใช้งานที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง นอกจากเรื่องราคาติดตั้งที่สูงแล้ว แบตเตอรี่ ราคาก็ยังสูงอยู่ และอายุการใช้งานของแบตเตอรี่อยู่ที่ 3-5 ปี ทำให้ราคาการบำรุงรักษาอาจจะสูงกว่าแบบ on grid
3. ระบบโซล่าเซลล์ hybrid (ไฮบริด)
หลักการทำงานของระบบโซล่าเซลล์ hybrid นั้น คือนำระบบออนกริด และออฟกริดมารวมกัน โดยระบบไฮบริดจะมาพร้อมกับแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บไฟไว้ใช้ในเวลากลางคืน เหมือนระบบ off grid แต่หากในเวลากลางคืน กระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่หมดก็จะดึงไฟฟ้าของการไฟฟ้ามาช่วยเสริม ทำให้มีไฟใช้อย่างต่อเนื่อง ประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย ซึ่งราคาโซล่าเซลล์แบบ hybrid นั้นค่อนข้างสูง
โซล่าเซลล์แบบไฮบริด (Hybrid) เหมาะกับใคร
เหมาะสำหรับอุตสาหกรรม โรงงาน หรือบ้านขนาดใหญ่ ระบบไฮบริดต้องติดตั้งด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งการเดินวงจร และติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ หากแผงมีกำลังผลิตมาก สามารถติดต่อขายไฟที่เหลือให้กับการไฟฟ้าได้ด้วย
เปรียบเทียบราคาระบบโซล่าเซลล์แต่ละแบบ
ระบบโซล่าเซลล์ ราคาแต่ละแบบก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิธีติดตั้ง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ค่าบำรุงรักษา รวมไปถึงกำลังไฟฟ้าที่จะได้จากแผงโซล่าเซลล์ โดยก่อนติดตั้งผู้ใช้งานจำเป็นต้องศึกษาวิธีคำนวณ ระบบโซล่าเซลล์เสียก่อน เพื่อจะได้ทราบว่าบริเวณที่จะใช้โซล่าเซลล์นั้น จะต้องใช้ไฟเท่าไหร่ และเลือกติดตั้งในกำลังไฟที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น
เปรียบเทียบ 3 ระบบโซล่าเซลล์ให้เข้าใจง่ายๆ
ระบบโซล่าเซลล์ | เหมาะกับ | ราคาเริ่มต้น | ประโยชน์ |
On Grid | นิยมใช้ในบ้าน | 100,000+ | ประหยัดค่าไฟ |
Off Grid | พื้นที่ไฟฟ้าไม่ถึง | 40,000+ | มีไฟฟ้าใช้ |
Hybrid | โรงงาน คาเฟ่ โรงเรียน โรงแรม | 300,000+ | ประหยัดค่าไฟ |
ราคาติดตั้งโซล่าเซลล์
สำหรับราคาติดตั้งระบบโซล่าเซลล์อยู่ที่ประมาณ 20,000 – 50,000 บาท โดยในส่วนนี้เป็นเพียงแค่ค่าแรงในการติดตั้งเท่านั้น ซึ่งมากน้อยต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณงาน
ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาค่าติดตั้งที่ต่างกัน
- ขนาดของพื้นที่ที่ต้องการติดตั้ง ความกว้าง และความเหมาะสมต่อการติดตั้ง
- ระยะทางใกล้ ไกลกับทีมติดตั้ง
- แผงโซล่าเซลล์ที่เลือกใช้
- ประเภทของโซล่าเซลล์ที่เลือกใช้
- ความยากง่ายของสถานที่และบริเวณที่ติดตั้ง
- อินเวอร์เตอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อที่เลือกใช้
- ระยะทางสำหรับเดินสายไฟไปยังแผงควบคุม
- บริการหลังการขาย อาทิ การขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์จากหน่วยงานภาครัฐ
ราคาอุปกรณ์ระบบโซล่าเซลล์
ขึ้นอยู่กับว่าคุณเลือกโซล่าเซลล์แบบไหน ค่าอุปกรณ์ของแต่ละแบบก็จะแตกต่างกันไป โดยโซล่าเซลล์ประเภทที่มีแบตเตอรี่จะมีราคาค่อนข้างแพง อยู่ที่ประมาณ 200,000 – 300,000 บาท ขึ้นไป แต่หากเป็นชนิดที่ไม่มีแบตเตอรี่ ราคาประมาณการอยู่ที่ 100,000 บาท หรือน้อยกว่านั้น
ราคาอุปกรณ์ของโซล่าเซลล์ ขึ้นอยู่กับ
- ขนาดของแผงโซล่าเซลล์
- ความจุของแบตเตอรี่
- ความยาวของสายไฟที่ใช้เชื่อมไปยังแผงควบคุม
- ประเภทของอินเวอร์เตอร์
- กำลังวัตต์ที่สามารถผลิตกระแสไฟได้
ราคาบำรุงรักษาระบบโซลาร์เซลล์
ในส่วนของค่าบำรุงรักษานั้นมีราคาที่ประหยัดมาก เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งหากคุณหมั่นดูแลทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์อยู่เสมอค่าบำรุงรักษาก็จะประหยัดมากขึ้น ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซล่าเซลล์นั้นยาวนานถึง 25 ปี โดยใน 25 ปีนี้ คุณจะต้องทำการเปลี่ยนแบตทุก 3 – 5 ปี ซึ่งค่าแบตเตอรี่ deep cycle อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท และมีค่าเปลี่ยนอินเวอร์เตอร์ซึ่งราคาแตกต่างกันไปตามประเภทของอินเวอร์เตอร์และกำลังวัตต์ โดยมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน แต่อินเวอร์เตอร์นั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถใช้ได้ถึง 10 ปีเลยทีเดียว
Q&A ระบบโซล่าเซลล์ (PV system)
สุดท้ายนี้โซล่ากูรูอยากฝากเรื่องการสั่งซื้อโซล่าเซลล์มาติดตั้งเองบนหลังคา หรือติดตั้งตามพื้นที่เกษตรนั้นแม้จะทำเองได้ แต่โซล่ากูรูก็แนะนำให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนลงมือติดตั้งให้ เพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง นอกจากนี้ยังมีเรื่องเชื่อมต่อขนานไฟกับการไฟฟ้า ที่ต้องขออนุญาต และเดินวงจรไฟฟ้าให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย