โซล่าฟาร์ม ลงทุนปี 2565 คุ้มไหม

โซล่าฟาร์ม (solar farm) เป็นธุรกิจพลังงานทดแทน ที่เป็นธุรกิจที่หลายคนจับตามองในปี 2565 ด้วยเทรนด์รักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้โซลาร์กูรูเลยทำความรู้จักโซล่าฟาร์มว่าคืออะไร ที่ประเทศไทยมีโซล่าฟาร์มกี่แห่ง และโซล่าฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ที่ไหน พร้อมข้อมูลแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจและอยากเริ่มต้นธุรกิจโซล่าฟาร์ม ข้อดีข้อเสีย จะได้พิจารณาได้อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักโซลาร์ฟาร์มอย่างละเอียด ก่อนตัดสินใจลงทุน

โซล่าฟาร์ม (Solar Farm) คืออะไร

โซล่าฟาร์ม (solar farm) คือ โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีแผงโซล่าเซลล์ (Solar Panel) เป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งโซลาร์ฟาร์มจะประกอบไปด้วยแผงโซล่าเซลล์หลาย ๆ แผงที่ถูกนำมาวางเรียงต่อกันเป็นบริเวณกว้าง โดยส่วนมากการลงทุนทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม จะเริ่มทำโซล่าฟาร์ม 1 ไร่ขึ้นไป เพื่อให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปริมาณมาก ๆ ในระดับเมกะวัตต์ (MW) จึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุนทำโซลาร์ฟาร์ม โดยธุรกิจโซลาร์ฟาร์มจะต้องขอเข้าร่วมโครงการโซล่าฟาร์มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) 

Solar Farm ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โซลาร์ฟาร์ม (solar farm) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ปี 2022 มีชื่อว่า Bhadla Solar Park ตั้งอยู่ที่ประเทศอินเดีย รัฐราชสถาน โดยใช้พื้นที่ถึง 14,000 เอเคอร์ หรือ 35,420 ไร่ มีกำลังการผลิตสูงถึง 2,245 MW หรือประมาณ 2.25 GW และน่าจะมีรายได้อยู่ประมาณปีละ 1.5 ล้านต่อปี ส่วนค่าติดตั้งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2020 

ประเทศไทย มีโซล่าฟาร์มอยู่ที่ไหนบ้าง

ในปี 2565 นี้ ประเทศไทยมีโซล่าฟาร์มจำนวน 39 แห่ง กระจายอยู่ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย อุดรธานี นครพนม เลย สุรินทร์ บุรีรัมย์ ลพบุรี นครสวรรค์ ลำปาง และพิษณุโลก โดยรวมทั้งหมดแล้วมีพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 260 เมกะวัตต์ (MW) โดยโซล่าฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน อยู่ใต้การบริหารของบริษัทโซล่าเพาเวอร์ จำกัด (SPCG) ติดตั้งอยู่ 9 จังหวัดที่ภาคอีสาน

จังหวัดกำลังการผลิตเงินลงทุน
โคราช 9 แห่ง54 MW6,300 ล้าน
ขอนแก่น 10 แห่ง60 MW7,000 ล้าน
บุรีรัมย์ 3 แห่ง18 MW2,100 ล้าน
สุรินทร์ 3 แห่ง18 MW2,100 ล้าน
นครพนม 3 แห่ง18 MW2,100 ล้าน
สกลนคร 2 แห่ง12 MW1,400 ล้าน
ร้อยเอ็ด 2 แห่ง12 MW1,400 ล้าน
หนองคาย 1 แห่ง6 MW700 ล้าน
อุดรธานี 1 แห่ง6 MW700 ล้าน

อยากทำธุรกิจ Solar Farm ต้องเริ่มยังไง

แสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีความเข้มข้นสูง จึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีมีคุณภาพ วันนี้โซล่ากูรูจึงได้นำวิธีเริ่มต้นธุรกิจโซลาร์ฟาร์มมาฝาก เพื่อเป็นแนวทางให้เพื่อน ๆ ได้เริ่มธุรกิจธุรกิจพลังงานทดแทนนี้ได้อย่างถูกวิธี

  1. ศึกษาความเป็นไปได้ สำรวจเงินทุนว่าสามารถสร้าง solar farm ได้ขนาดเท่าไหร่ เพราะการลงทุนที่มาก ก็จะสร้างรายได้กลับมามากด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ต้องสำรวจพื้นที่ที่ใช้จะทำโครงการโซล่าฟาร์ม ว่าอยู่ในตำแหน่งที่รับแสงอาทิตย์ได้ดีหรือไม่
  2. ยื่นจดทะเบียน เพื่อขออนุญาตทำโซล่าฟาร์ม และสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า รวมถึงใบอนุญาตขนานไฟฟ้า เพราะโซล่าฟาร์มนั้นเป็นระบบออนกริด หรือระบบไฮบริด จึงจำเป็นต้องขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบการไฟฟ้า
  3. ออกแบบและก่อสร้าง โดยแนะนำให้หาบริษัทรับติดตั้งโซล่าเซลล์ที่มีความชำนาญมาดำเนินการให้ เพื่อให้ได้โครงการโซล่าฟาร์มที่ได้คุณภาพ ควบคุมงบประมาณได้ และมีการรับประกันตามระยะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงมีบริการหลังการขายที่ช่วยแบ่งเบาหน้าที่ดูแลรักษาแผงโซล่าเซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้พอสมควรเลยทีเดียว

ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า คืออะไร

เอกสารอนุญาตให้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้าจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใครที่ต้องการทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม จำเป็นต้องได้ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้านี้ก่อน จึงจะสามารถทำได้ โดยใบอนุญาตนี้จะมีอายุไม่เกิน 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากระเบียบการใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า

รายได้ของโซล่าฟาร์ม ต่อไร่ ต่อปี

โซล่าฟาร์ม 1 ไร่ สามารถสร้างรายได้ 400,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว โดยคำนวณง่าย ๆ ดังนี้ พื้นที่ 1 ไร่ ติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ประมาณ 100 กิโลวัตต์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ถึง 500 หน่วยต่อวัน โดยการไฟฟ้ารับซื้อที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เท่ากับว่าในหนึ่งวันสามารถขายไฟได้วันละ 1,100 บาท และ 1 ปี มี 365 วัน ดังนั้น รายได้จากการขายไฟฟ้าต่อปีจึงสูงถึง 400,000 บาทเลยทีเดียว 

ธุรกิจโซล่าฟาร์มมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง

ก่อนตัดสินใจลงทุนทำโซล่าฟาร์ม มาดูข้อดี และข้อเสียกัน 

ข้อดี Solar farm 

1. สร้างรายได้ ลงทุนครั้งเดียว แต่สร้างรายได้จากการขายไฟให้กับการไฟฟ้ายาวนานถึง 25 ปี 

2. ได้ใช้ไฟฟรี นอกจากได้รายได้แล้ว ไฟฟ้าที่โซล่าฟาร์มผลิต ยังทำให้คุณได้ใช้ไฟฟ้าฟรี ไม่ต้องจ่ายค่าไฟรายเดือนอีกด้วย

3. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งกระบวนการผลิตนั้นไม่มีการเผาไหม้ ไม่ใช้สารเคมี และไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิต จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อเสีย Solar farm

1. ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับแสงแดดในแต่ละวัน ว่ามีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด ยิ่งในช่วงฤดูฝนที่แดดไม่มาก อาจผลิตไฟฟ้าได้ไม่มากนัก

2. ใช้พื้นที่กว้าง ต้องมีที่ดินอยู่แล้วในมือ จึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่หากต้องเสียเงินซื้อที่เพิ่มด้วยแล้ว กว่าจะได้ทุนคืนจะใช้เวลานานมากขึ้น

3. ค่าติดตั้งสูง พื้นที่ยิ่งกว้าง ค่าติดตั้งก็ยิ่งสูง แต่โซล่าฟาร์มขนาดใหญ่จะคืนทุนได้ไว และทำกำไรได้มาก

Q&A โซล่าร์ฟาร์ม (Solar Farm) ควรลงทุนไหม

โซล่าฟาร์ม 1 mw ใช้พื้นที่กี่ไร่

สำหรับโซลาร์ฟาร์มที่ผลิตกระแสไฟฟ้า 1mw จะใช้พื้นที่ประมาณ 8 – 10 ไร่ ซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่แสงแดดเข้าถึงได้ดี ไม่มีฝุ่นมากนัก และการติดตั้งควรหันแผงโซล่าเซลล์ไปในทิศทางที่รับแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งวัน หรือติดระบบโซล่าเซลล์ที่หันตามแสงได้

การไฟฟ้าซื้อไฟจากโซล่าฟาร์มหน่วยละเท่าไร

การจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านั้น ปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 2.20 บาท (ข้อมูลปี 2022) ซึ่งอัตรานี้เป็นอัตราที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว เพราะเดิมทีไฟฟ้าให้เพียงหน่วยละ 1.68 บาทเท่านั้น

โซล่าฟาร์ม ขนาด 1 ไร่ ผลิตไฟได้เดือนละเท่าไร

โซล่าฟาร์ม 1 ไร่ ผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 15,000 หน่วย เพราะ 1 ไร่ สามารถติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ถึง 100 กิโลวัตต์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้วันละ 500 หน่วย ซึ่งหากคิดเป็นรายได้ที่ขายไฟให้กับการไฟฟ้า ต่อเดือนคุณจะมีรายได้จากการขายไฟถึง 33,000 บาทเลยทีเดียว

บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ทำโซล่าฟาร์มกี่แห่ง

โซล่าฟาร์มของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ มีทั้งหมด 4 แห่งด้วยกัน ซึ่งอยู่ในจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ ลำปาง และพิษณุโลก กินพื้นที่รวมกันกว่า 2,500 ไร่ ซึ่งเฉพาะในจังหวัดพิษณุโลก ใช้พื้นที่ในการทำโซล่าฟาร์มถึง 2,200 ไร่ 

จะทำโซล่าฟาร์ม ขนาดเล็ก คุ้มการลงทุนไหม

solar farm ถือเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง การทำโซล่าฟาร์มขนาดเล็กจึงไม่คุ้มเท่าไหร่นัก เพราะขนาดพื้นที่ที่เล็ก ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดน้อยตามลงไปด้วย ซึ่งทำให้รายได้จากการขายไฟฟ้าลดลงเช่นกัน แถมยังยืดเวลาคืนทุนให้ยาวนานมากขึ้นกว่าเดิม 

การลงทุนใน solar farm เป็นอีกหนึ่งธุรกิจพลังงานทดแทนที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น กระทรวงพลังงานให้การสนับสนุน ด้วยการรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้น แถมราคาอุปกรณ์โซล่าเซลล์ก็เริ่มทยอยปรับลดลง เรียกว่ามีแต่ได้กับได้ จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าลงทุนไม่น้อยเลยทีเดียว